เพิ่งขึ้นคอนเสิร์ต 10ปี PSU Phuket class 43 มาครับ

เพิ่งขึ้นคอนเสิร์ต 10ปี PSU Phuket class 43 มาครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 6


"แฟนที่คบกันมานาน ถามเราว่า ที่บ้านเราจะเรียกสินสอดประมาณเท่าไหร่ เราก็ตอบไม่ถูก ได้แต่บอกว่าแล้วแต่จะให้ เราอยากให้ผู้ใหญ่เค้าคุยกันเอง แต่แฟนเราบอกว่า สองแสนพอมั้ย เพื่อนๆว่ามันน้อยไปมั้ย เราว่าน้อยไป แต่ไม่กล้าพูดอะไร ก็เฉยๆ เค้าประเมินค่าเราแค่นี้เองเหรอเนี่ย เหอๆๆ แย่จัง นี่ขนาดยังไม่ได้มีอะไรกันนะเนี่ย....เพื่อนว่าจะทำไงดีคะ เราก็ทำงานแล้ว เรียนจบตรีมาสองปีได้แล้วล่ะ แต่ยังไม่คิดแต่งหรอก อยากเรียนต่อก่อน แต่แฟนชอบถามเรื่องนี้ ทั้งๆที่เค้าก็ยังไม่อยากแต่อ่ะนะ ถามไปงั้นๆ"

สวัสดีค่ะคุณอาศิราณีวิชชุพล(ชื่อยาวจังค่ะ) หนูบังเอิญไปอ่านเจอข้อความด้านบนในเวปบอร์ดผู้หญิงนะคะ
บังเอิญจังเลยค่ะคุณอาที่เรื่องมันตรงกับชีวิตหนูเหลือเกิน
อยากให้คุณอาช่วยแนะนำหนูหน่อยค่ะ
รัน/ราชภัฎภูเก็ต


ตอบ น้องรัน ก่อนอื่นอาอยากให้หลานอ่านเรื่องสินสอดข้างล่างนี้ก่อนนะจ๊ะ
สินสอด หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (ม.1437)โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ได้
หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด

ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1. ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ

2. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ

กรณีของหลาน อาแนะนำให้ลองคุยกับพ่อแม่ดูนะจ๊ะว่าจะเรียกสินสอดเท่าไหร่ แล้วค่อยมาหาจุดลงตัวกันกับแฟน
เชื่อว่าคงลงเอยกันด้วยดี อาขอเป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ
อีกอย่างอาขอให้หลานรักษาความสาวไว้นานๆจนกว่าจะถึงวันแต่งงานนะจ๊ะ
ศิราณีวิชชุพล(ชื่อยาวจริงๆด้วย)

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ไดอารี่เรียนกฎหมายป.โท ตอนที่ 5

หลังจากวันที่ท่านเจ้าคุณเสียชีวิตลง บรรดาลูกทั้ง 4 ของท่านต่างใจจดใจจ่อรอคอยวันนี้ให้มาถึงไวไว
วันนี้ วันที่ทนายความประจำตระกูลจะเปิดพินัยกรรมออกอ่าน เพื่อชี้แจงถึงมรดกที่แต่ละคนจะได้รับ
รถราคาแพงยี่ห้อหรูนับ10คันจอดเต็มลานหน้าบ้าน ทั้งลูกชายหญิง ลูกเขย-สะใภ้ หลานและเหลน
รวมเกือบ 50 คนต่างพร้อมกันที่โถงประชุมใหญ่กลางบ้านหลังโต ทุกคนต่างหวังที่จะได้มีส่วนในมรดกร้อยล้าน
ในขณะที่ทนายกำลังเปิดพินัยกรรม เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น...

วิชชุพลภาพยนต์ นำเสนอไดอารี่วันนี้ในท้องเรื่อง "มรดก"

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ว่าด้วยเรื่องมรดกอยู่ในบรรพที่ 6 มีอยู่ 6 ลักษณะคือ
ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ 2 สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก
ลักษณะ 3 พินัยกรรม
ลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก
ลักษณะ 5 มรดกที่ไม่มีผู้รับ
ลักษณะ 6 อายุความ

และเพื่อให้เข้ากับท้องเรื่องของเราวันนี้ เราขอเสนอตอน "ลำดับชั้นการรับมรดก"
การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท โดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดัง ต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการ รับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ มรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่ง เสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
(2) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) แต่มี ทายาทตาม มาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
(3) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้น ยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตาม มาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม
(4) ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมี ชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทน ที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใด ยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณีและมีบิดามารดายังมีชีวิต อยู่ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

คงจะได้ความรู้ไปไม่น้อยนะครับวันนี้ ส่วนบทภาพยนต์ข้างต้นจะลงเอยอย่างไร (โปรดติดตามตอนต่อไป..)

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 4

ข้อใดต่อไปนี้เป็นการยืมใช้คงรูป
ก. ยืมเงิน
ข. ยืมยางลบ
ค. ยืมรถยนต์
ง. ยืมน้ำดื่ม


เคยได้ยินคำนี้กันไหมครับ "ยืมใช้คงรูป"
อย่าคิดว่าเล่นๆนะครับเรื่องการยืมเนี่ย กฎหมายท่านว่าไว้เหมือนกัน
มาดูกันครับ
ตามกฎหมายมาตรา 640-649 โดยสรุปกล่าวว่า
- ยืมใช้คงรูปนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

- การให้ยืมใช้คงรูปนั้นท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

- ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

- ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

- ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

- ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความใน มาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

- ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

- ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย

- อันการยืมใช้คงรูปย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม

- ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

ดังนั้นถ้าจะเป็นผู้ยืมที่ดี ก่อนจะตายควรคืนของที่ยืมมาทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนนะครับ อย่าให้ใครมาว่าเราได้เชียว...

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 3

ก่อนจะเข้าไดอารี่วันนี้ ผมไปอ่านเจอเรื่องนึงมา เลยอยากจะนำมาให้ทุกคนอ่านกัน
เวลามองคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณ.. คุณเคยรู้สึกไหมว่า
"ตานี่ดูแก่จัง.. ตัวฉันเองยังดูหนุ่มกว่ามันตั้งเยอะเลยว่ะ"ถ้าคุณเคยนึกอย่างนั้น.. ลองอ่านเรื่องนี้ดู (อาจจะโดนกับตัวคุณเองเข้าสักวันนะ)

ผมมีนัดครั้งแรกกับหมอฟันคนใหม่.. ระหว่างที่นั่งรอ ผมมองข้างฝา มีใบประกาศนียบัตรติดอยู่ พอเห็นชื่อก็จำได้.. ยังจำได้ถึงภาพหนุ่มหล่อ สูงสง่า ล่ำสัน เป็นเพื่อนที่เคยเรียนมัธยมปลายห้องเดียวกัน (เป็นแชมป์จักรยานของโรงเรียนด้วยนะ) แต่ไม่ได้เจอกันเลยตั้งแต่จบมัธยมปลาย เมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว

พอถึงคิวเข้าห้องทำฟัน.. เห็นหน้าหมอเข้าจริงๆก็ต้องเปลี่ยนใจ.. นึกในใจว่า "คงชื่อซ้ำกันมั้ง เพื่อนกูไม่น่าจะแก่กว่ากูขนาดนี้นี่หว่า" เพราะหมอที่เห็นนั้นเป็นชายแก่ หัวที่ค่อนข้างล้านนั้นมีผมหงอกหรอมแหรม หน้าก็เหี่ยว

พอตรวจฟันเสร็จ ผมถามหมอว่าเรียนม.หกที่โรงเรียนบางแสนหรือเปล่า
"ใช่ครับ" หมอตอบ
"จบม.หกปีไหนน่ะ" ผมถามต่อ
"ปี พ.ศ. ๒๕๐๘" หมอตอบ และถามว่า "ถามทำไมหรือครับ"
"อ้าว.. ถ้าอย่างนั้นก็เรียนห้องฉันน่ะซิ" ผมตอบ
หมอจ้องหน้าผม เพ่งพินิจพิจารณา แบบพยายามทบทวนความทรงจำ แล้วในที่สุดก็ถามออกมาว่า
"ขอประทานโทษเถอะครับ.. ผมนึกไม่ออกจริงๆ.. อาจารย์สอนวิชาอะไรครับ ?" (ฮา)

*****
หัวเราะกันไปแล้ว มาเข้าเรื่องกัน วันนี้ขอเสนอคำว่า "เช่าทรัพย์" กับ "เช่าซื้อ"

เช่าทรัพย์(Hire of Property หรือ Rent)
เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งได้ใช้ หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าให้ผู้ให้เช่าตามที่ตกลงไว้ เช่น นาย ก.ให้นาย ข.เช่ารถยนต์เป็นเวลา 7 วัน ตกลงค่าเช่ากันวันละ 1,000 บาท นาย ข.สามารถใช้รถยนต์นั้นได้ตามที่ตกลง หรือที่ทำเป็นธุรกิจคือกิจการให้เช่ารถยนต์ทั้งไทยทั้งเทศ สำหรับการใช้บริการรถแท็กซี่นั้น ผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ไม่ใช่ผู้เช่า แต่เป็นการจ้าง ผู้ขับรถแท็กซี่เป็นผู้รับจ้าง ส่วนคนขับแท็กซี่อาจเป็นผู้เช่ารถจากเจ้าของอู่แท็กซี่อีกทอดหนึ่ง

ในปัจจุบันส่วนราชการหลายแห่งนิยมเช่ารถ ทั้งรถประจำตำแหน่ง และรถยนต์กลาง แทนการซื้อกันมาก ทั้งนี้น่าจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการซื้อ

เช่าซื้อ(Hire Purchase)
คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินให้เช่า โดยมีข้อตกลงว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าได้จ่ายเงินให้เจ้าของทรัพย์สินตามจำนวนงวดตามที่ตกลงกันไว้ เช่น เจ้าของรถยนต์ตกลงให้นาย ง.เช่าซื้อรถยนต์ โดยจะต้องจ่ายค่างวดให้ทุกเดือนตามที่ตกลงไว้จำนวนกี่เดือน เมื่อชำระเงินครบตามที่กำหนดไว้ ก็ตกลงจะไปโอนรถยนต์นั้นให้นาย ง.ต่อไป สำหรับการเช่าซื้อรถยนต์กันโดยทั่วไป หรือที่เรียกว่าการผ่อนรถนั้น ผู้เช่าหรือที่เรียกว่าผู้ซื้อรถ ไม่ได้ผ่อนกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรถยนต์โดยตรง แต่ทำสัญญาเช่าซื้อ(หรือผ่อน)กับผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทในเครือกับผู้ผลิตหรือจำหน่ายรถยนต์ก็ได้ ในร่างการเช่าซื้อรถยนต์ เจ้าของรถตามที่ปรากฏในทะเบียนคือ บริษัทผู้ให้สินเชื่อหรือผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อผ่อนชำระแล้วผู้ให้เช่าซื้อจึงจะโอนรถให้ผู้เช่าซื้อในภายหลัง

ฉะนั้น ท่านที่เช่าซื้อรถยนต์ทั้งหลายอย่าเข้าใจผิดนะครับว่า ตนเองมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือผ่อนส่ง ถ้าเผลอไปทุบรถประท้วงอาจจะเข้าข่ายทำให้เสียทรัพย์ หากนำรถนั้นออกไปขายต่อ โดยเฉพาะลักลอบไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน จะเข้าข่ายยักยอกทรัพย์

วันนี้เนื้อที่หมดแล้ว พบกันใหม่ตอนหน้าครับ
เหมือนเดิมใครเข้ามาอ่านแล้วชอบ อย่าลืมทักทายกันบ้างล่ะ...

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 2

วันนี้มารู้จักคำนี้กัน "จ้างทำของ" กับ "จ้างแรงงาน"

คำถามกระตุ้นต่อมอยากรู้
ให้แท๊กซี่ไปส่งที่สนามบินเป็นการจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ?
ให้นักร้องในค่ายออกเทปเป็นการจ้างทำของหรือจ้างแรงงาน?
แค่คำถามโปรยหัวก็น่าคิดแล้วใช่ไหมครับ งั้นเรามาหาคำตอบกัน

"จ้างทำของ"
ความหมายของสัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

"จ้างแรงงาน"
ความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ มีลักษณะที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันบ้าง บางประการกล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานเป็นการจ้างให้บุคคลอื่นทำงานให้ แต่อย่างไรก็ตามสัญญาจ้างแรงงานมิได้มุ่งถึง ผลสำเร็จของงานเป็นหลักเหมือนดังเช่นสัญญาจ้างทำของที่แม้ว่าผู้รับจ้างสามารถใช้แรงงานหรือทรัพยากรอื่นใดก็ตามโดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก

ข้อแตกต่าง"สัญญาจ้างทำของ" กับ "สัญญาจ้างแรงงาน"
สัญาจ้างทำของ
1 คู่สัญญาเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง กับ ผู้รับจ้าง
2 ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานให้จนงานนั้นสำเร็จ
3 ถือความสำเร็จของการงานเป็นสำคัญ
4 ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเงินสินจ้างตามความสำเร็จของการงานที่ตกลงกัน
5 ผู้รับจ้างไม่ต้องทำงานตามคำสั่ง เพียงแต่ทำงานให้เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาเท่านั้น
6 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดการหาเครื่องมือสำหรับใช้ทำงานและบางครั้งอาจต้องหาสัมภาระด้วย
7 ผู้รับจ้างต้องส่งมอบการงานที่ทำให้ทันเวลาต่อผู้ว่าจ้าง
8 นิติบุคคลเป็นผู้ว่าจ้างได้และเป็นผู้รับจ้างได้
สัญญาจ้างแรงงาน
1 คู่สัญญาเรียกว่า นายจ้าง กับ ลูกจ้าง
2 ลูกจ้างตกลงจะทำงานให้ตลอดไปจนกว่าจะเลิกจ้าง
3 ถือระยะเวลาที่ทำงานให้เป็นสำคัญ
4 นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างให้ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
5 ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้างมีการควบคุมบังคับบัญชากันได้
6 ลูกจ้างไม่ต้องจัดหาเครื่องมือ หรือสัมภาระในการทำงานเว้นแต่มีข้อตกลงพิเศษ
7 ลูกจ้างไม่ต้องส่งมอบงานที่ทำให้นายจ้างเพราะอยู่ในความควบคุมดูแลของนายจ้างอยู่แล้ว
8 นิติบุคคลเป็นนายจ้างได้ แต่เป็นลูกจ้างไม่ได้

อ่านแล้วได้คำตอบจากคำถามด้านบนกันรึยัง
ยังไงถ้าเข้ามาอ่านแล้วก็ทักทายกันบ้างนะคร้าบบบบ

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เมื่อความรัก ปะทะ กฎหมาย




มีโอกาสได้ดูภาพยนต์เรื่อง"Happy Birthday"ผลงานกำกับของคุณพงพัฒน์ วชิรบรรจง โดยมี อนันดา แอมเวอริ่งแฮม เป็นนักแสดงนำ

ตัวหนังพยายามเสนอประเด็นเรื่องความรัก เมื่อชาย-หญิงคู่หนึ่งเกิดมีความรักต่อกัน ฝ่ายชายสัญญาว่าจะดูแลฝ่ายหญิงตลอดไป เรื่องราวเป็นไปด้วยดีน่ารักกุ๊กกิ๊กตามประสาคนรักกัน

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ทั้งคู่ไม่เคยคาดคิดก็เกิดขึ้น ในวันเกิดของชายหนุ่ม ขณะที่หญิงสาวกำลังขับรถเพื่อจะนำของขวัญวันเกิดไปให้ รถของเธอถูกชนอย่างจังจากมินิบัส เป็นผลให้เธอไม่รู้สึกตัวอีกเลยนับแต่วินาทีนั้น

ผลการตรวจพบว่าก้านสมองเธอได้รับความเสียหายหนัก สภาพของเธอไม่ต่างจากคนตายที่ไม่รับรู้ใดๆทั้งสิ้น ยังมีเพียงลมหายใจเท่านั้น หมออธิบายให้พ่อแม่และชายหนุ่มฟังถึงความเป็นไปได้ที่เธอจะฟื้นกลับมามีชีวิตปกติ ซึ่งโอกาสแทบเป็นศูนย์

ชายหนุ่มผู้มีความรักและเชื่อในปาฏิหาริย์เลือกที่จะขอนำเธอไปเฝ้าดูแลรักษาที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่แพงเหลือเกินจากโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงแรกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็ยินดี

แต่การดูแลผู้ป่วยที่เสมือนเจ้าหญิงนิทราสร้างความท้อใจให้กับชายหนุ่มไปทุกวัน เขาเหนื่อย เขาเครียด และมีแรงกดดันมากมายจากที่ทำงาน จากคนรอบข้างที่คอยพูดกรอกหูให้เขาล้มเลิก
จนในที่สุดทุกอย่างมันทำให้เขาอยู่ในภาวะเพ้อฝัน เขาหลอกตัวเองว่าฝ่ายหญิงฟื้นตื่นมาแล้ว เขาพาร่างของเธอไปห้างสรรพสินค้า พูดคุยกับเธอราวกับเธอมีความรู้สึก

พ่อแม่ฝ่ายหญิงรับรู้ถึงความเป็นไป ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะไม่ทรมานเธออีกต่อไปด้วยการจะถอดเครื่องช่วยหายใจให้เธอจากไปอย่างสงบ
ฝ่ายชายพยายามขอร้องอยากเป็นคนดูแลเธอต่อไป เรื่องถูกร้องต่อศาลเพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ

สุดท้ายศาลตัดสินให้พ่อแม่เป็นฝ่ายชนะ แม้ชายหนุ่มพยายามจะนำรูปแต่งงานของทั้งคู่มาแสดงต่อศาล แต่มันก็เป็นเพียงรูปที่ถ่ายกันเล่นๆ ไม่มีพิธีหรือเอกสารใดๆรับรอง

ผมจะไม่เล่าว่าเรื่องนี้จบอย่างไร เอาไว้ให้คุณไปหามาดูเองแล้วกัน
แต่สิ่งที่อยากหยิบยกมาแสดงความคิดเห็น คือเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่พ่อแม่ได้รับต่อศาลให้เป็นผู้ชนะ

ตรงนี้คุณคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ?
พ่อแม่ที่อยากถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ลูกจากไปอย่างสงบไม่ต้องทรมานอีกต่อไป?
หรือชายหนุ่มผู้มีรักผู้ไม่ยอมแพ้ยังอยากขอดูแลเธอต่อไป?

แม้ตามหลักกฎหมายครอบครัว พ่อแม่ย่อมมีสิทธิในการดูแลบุตรโดยตรง เว้นเพียงแต่ว่าศาลวิเคราะห์แล้วว่าพ่อแม่เป็นผู้ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ สิทธินี้จึงจะตกแก่ผู้อื่น

ผมมองดูชายหนุ่มแล้วก็สงสารนะครับ ทำอะไรไม่ได้ นอกจากความรักที่เขามี และปาฏิหาริย์ที่เขาเชื่อ
สุดท้ายแล้วปาฏิหาริย์จะมีจริงหรือไม่?
ลองไปหาคำตอบจากหนังเรื่องนี้มาชมสิครับ