เพิ่งขึ้นคอนเสิร์ต 10ปี PSU Phuket class 43 มาครับ

เพิ่งขึ้นคอนเสิร์ต 10ปี PSU Phuket class 43 มาครับ

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 3

ก่อนจะเข้าไดอารี่วันนี้ ผมไปอ่านเจอเรื่องนึงมา เลยอยากจะนำมาให้ทุกคนอ่านกัน
เวลามองคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณ.. คุณเคยรู้สึกไหมว่า
"ตานี่ดูแก่จัง.. ตัวฉันเองยังดูหนุ่มกว่ามันตั้งเยอะเลยว่ะ"ถ้าคุณเคยนึกอย่างนั้น.. ลองอ่านเรื่องนี้ดู (อาจจะโดนกับตัวคุณเองเข้าสักวันนะ)

ผมมีนัดครั้งแรกกับหมอฟันคนใหม่.. ระหว่างที่นั่งรอ ผมมองข้างฝา มีใบประกาศนียบัตรติดอยู่ พอเห็นชื่อก็จำได้.. ยังจำได้ถึงภาพหนุ่มหล่อ สูงสง่า ล่ำสัน เป็นเพื่อนที่เคยเรียนมัธยมปลายห้องเดียวกัน (เป็นแชมป์จักรยานของโรงเรียนด้วยนะ) แต่ไม่ได้เจอกันเลยตั้งแต่จบมัธยมปลาย เมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว

พอถึงคิวเข้าห้องทำฟัน.. เห็นหน้าหมอเข้าจริงๆก็ต้องเปลี่ยนใจ.. นึกในใจว่า "คงชื่อซ้ำกันมั้ง เพื่อนกูไม่น่าจะแก่กว่ากูขนาดนี้นี่หว่า" เพราะหมอที่เห็นนั้นเป็นชายแก่ หัวที่ค่อนข้างล้านนั้นมีผมหงอกหรอมแหรม หน้าก็เหี่ยว

พอตรวจฟันเสร็จ ผมถามหมอว่าเรียนม.หกที่โรงเรียนบางแสนหรือเปล่า
"ใช่ครับ" หมอตอบ
"จบม.หกปีไหนน่ะ" ผมถามต่อ
"ปี พ.ศ. ๒๕๐๘" หมอตอบ และถามว่า "ถามทำไมหรือครับ"
"อ้าว.. ถ้าอย่างนั้นก็เรียนห้องฉันน่ะซิ" ผมตอบ
หมอจ้องหน้าผม เพ่งพินิจพิจารณา แบบพยายามทบทวนความทรงจำ แล้วในที่สุดก็ถามออกมาว่า
"ขอประทานโทษเถอะครับ.. ผมนึกไม่ออกจริงๆ.. อาจารย์สอนวิชาอะไรครับ ?" (ฮา)

*****
หัวเราะกันไปแล้ว มาเข้าเรื่องกัน วันนี้ขอเสนอคำว่า "เช่าทรัพย์" กับ "เช่าซื้อ"

เช่าทรัพย์(Hire of Property หรือ Rent)
เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งได้ใช้ หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าให้ผู้ให้เช่าตามที่ตกลงไว้ เช่น นาย ก.ให้นาย ข.เช่ารถยนต์เป็นเวลา 7 วัน ตกลงค่าเช่ากันวันละ 1,000 บาท นาย ข.สามารถใช้รถยนต์นั้นได้ตามที่ตกลง หรือที่ทำเป็นธุรกิจคือกิจการให้เช่ารถยนต์ทั้งไทยทั้งเทศ สำหรับการใช้บริการรถแท็กซี่นั้น ผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ไม่ใช่ผู้เช่า แต่เป็นการจ้าง ผู้ขับรถแท็กซี่เป็นผู้รับจ้าง ส่วนคนขับแท็กซี่อาจเป็นผู้เช่ารถจากเจ้าของอู่แท็กซี่อีกทอดหนึ่ง

ในปัจจุบันส่วนราชการหลายแห่งนิยมเช่ารถ ทั้งรถประจำตำแหน่ง และรถยนต์กลาง แทนการซื้อกันมาก ทั้งนี้น่าจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการซื้อ

เช่าซื้อ(Hire Purchase)
คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินให้เช่า โดยมีข้อตกลงว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าได้จ่ายเงินให้เจ้าของทรัพย์สินตามจำนวนงวดตามที่ตกลงกันไว้ เช่น เจ้าของรถยนต์ตกลงให้นาย ง.เช่าซื้อรถยนต์ โดยจะต้องจ่ายค่างวดให้ทุกเดือนตามที่ตกลงไว้จำนวนกี่เดือน เมื่อชำระเงินครบตามที่กำหนดไว้ ก็ตกลงจะไปโอนรถยนต์นั้นให้นาย ง.ต่อไป สำหรับการเช่าซื้อรถยนต์กันโดยทั่วไป หรือที่เรียกว่าการผ่อนรถนั้น ผู้เช่าหรือที่เรียกว่าผู้ซื้อรถ ไม่ได้ผ่อนกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรถยนต์โดยตรง แต่ทำสัญญาเช่าซื้อ(หรือผ่อน)กับผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทในเครือกับผู้ผลิตหรือจำหน่ายรถยนต์ก็ได้ ในร่างการเช่าซื้อรถยนต์ เจ้าของรถตามที่ปรากฏในทะเบียนคือ บริษัทผู้ให้สินเชื่อหรือผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อผ่อนชำระแล้วผู้ให้เช่าซื้อจึงจะโอนรถให้ผู้เช่าซื้อในภายหลัง

ฉะนั้น ท่านที่เช่าซื้อรถยนต์ทั้งหลายอย่าเข้าใจผิดนะครับว่า ตนเองมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือผ่อนส่ง ถ้าเผลอไปทุบรถประท้วงอาจจะเข้าข่ายทำให้เสียทรัพย์ หากนำรถนั้นออกไปขายต่อ โดยเฉพาะลักลอบไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน จะเข้าข่ายยักยอกทรัพย์

วันนี้เนื้อที่หมดแล้ว พบกันใหม่ตอนหน้าครับ
เหมือนเดิมใครเข้ามาอ่านแล้วชอบ อย่าลืมทักทายกันบ้างล่ะ...

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 2

วันนี้มารู้จักคำนี้กัน "จ้างทำของ" กับ "จ้างแรงงาน"

คำถามกระตุ้นต่อมอยากรู้
ให้แท๊กซี่ไปส่งที่สนามบินเป็นการจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ?
ให้นักร้องในค่ายออกเทปเป็นการจ้างทำของหรือจ้างแรงงาน?
แค่คำถามโปรยหัวก็น่าคิดแล้วใช่ไหมครับ งั้นเรามาหาคำตอบกัน

"จ้างทำของ"
ความหมายของสัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

"จ้างแรงงาน"
ความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ มีลักษณะที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันบ้าง บางประการกล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานเป็นการจ้างให้บุคคลอื่นทำงานให้ แต่อย่างไรก็ตามสัญญาจ้างแรงงานมิได้มุ่งถึง ผลสำเร็จของงานเป็นหลักเหมือนดังเช่นสัญญาจ้างทำของที่แม้ว่าผู้รับจ้างสามารถใช้แรงงานหรือทรัพยากรอื่นใดก็ตามโดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก

ข้อแตกต่าง"สัญญาจ้างทำของ" กับ "สัญญาจ้างแรงงาน"
สัญาจ้างทำของ
1 คู่สัญญาเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง กับ ผู้รับจ้าง
2 ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานให้จนงานนั้นสำเร็จ
3 ถือความสำเร็จของการงานเป็นสำคัญ
4 ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเงินสินจ้างตามความสำเร็จของการงานที่ตกลงกัน
5 ผู้รับจ้างไม่ต้องทำงานตามคำสั่ง เพียงแต่ทำงานให้เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาเท่านั้น
6 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดการหาเครื่องมือสำหรับใช้ทำงานและบางครั้งอาจต้องหาสัมภาระด้วย
7 ผู้รับจ้างต้องส่งมอบการงานที่ทำให้ทันเวลาต่อผู้ว่าจ้าง
8 นิติบุคคลเป็นผู้ว่าจ้างได้และเป็นผู้รับจ้างได้
สัญญาจ้างแรงงาน
1 คู่สัญญาเรียกว่า นายจ้าง กับ ลูกจ้าง
2 ลูกจ้างตกลงจะทำงานให้ตลอดไปจนกว่าจะเลิกจ้าง
3 ถือระยะเวลาที่ทำงานให้เป็นสำคัญ
4 นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างให้ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
5 ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้างมีการควบคุมบังคับบัญชากันได้
6 ลูกจ้างไม่ต้องจัดหาเครื่องมือ หรือสัมภาระในการทำงานเว้นแต่มีข้อตกลงพิเศษ
7 ลูกจ้างไม่ต้องส่งมอบงานที่ทำให้นายจ้างเพราะอยู่ในความควบคุมดูแลของนายจ้างอยู่แล้ว
8 นิติบุคคลเป็นนายจ้างได้ แต่เป็นลูกจ้างไม่ได้

อ่านแล้วได้คำตอบจากคำถามด้านบนกันรึยัง
ยังไงถ้าเข้ามาอ่านแล้วก็ทักทายกันบ้างนะคร้าบบบบ

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เมื่อความรัก ปะทะ กฎหมาย




มีโอกาสได้ดูภาพยนต์เรื่อง"Happy Birthday"ผลงานกำกับของคุณพงพัฒน์ วชิรบรรจง โดยมี อนันดา แอมเวอริ่งแฮม เป็นนักแสดงนำ

ตัวหนังพยายามเสนอประเด็นเรื่องความรัก เมื่อชาย-หญิงคู่หนึ่งเกิดมีความรักต่อกัน ฝ่ายชายสัญญาว่าจะดูแลฝ่ายหญิงตลอดไป เรื่องราวเป็นไปด้วยดีน่ารักกุ๊กกิ๊กตามประสาคนรักกัน

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ทั้งคู่ไม่เคยคาดคิดก็เกิดขึ้น ในวันเกิดของชายหนุ่ม ขณะที่หญิงสาวกำลังขับรถเพื่อจะนำของขวัญวันเกิดไปให้ รถของเธอถูกชนอย่างจังจากมินิบัส เป็นผลให้เธอไม่รู้สึกตัวอีกเลยนับแต่วินาทีนั้น

ผลการตรวจพบว่าก้านสมองเธอได้รับความเสียหายหนัก สภาพของเธอไม่ต่างจากคนตายที่ไม่รับรู้ใดๆทั้งสิ้น ยังมีเพียงลมหายใจเท่านั้น หมออธิบายให้พ่อแม่และชายหนุ่มฟังถึงความเป็นไปได้ที่เธอจะฟื้นกลับมามีชีวิตปกติ ซึ่งโอกาสแทบเป็นศูนย์

ชายหนุ่มผู้มีความรักและเชื่อในปาฏิหาริย์เลือกที่จะขอนำเธอไปเฝ้าดูแลรักษาที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่แพงเหลือเกินจากโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงแรกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็ยินดี

แต่การดูแลผู้ป่วยที่เสมือนเจ้าหญิงนิทราสร้างความท้อใจให้กับชายหนุ่มไปทุกวัน เขาเหนื่อย เขาเครียด และมีแรงกดดันมากมายจากที่ทำงาน จากคนรอบข้างที่คอยพูดกรอกหูให้เขาล้มเลิก
จนในที่สุดทุกอย่างมันทำให้เขาอยู่ในภาวะเพ้อฝัน เขาหลอกตัวเองว่าฝ่ายหญิงฟื้นตื่นมาแล้ว เขาพาร่างของเธอไปห้างสรรพสินค้า พูดคุยกับเธอราวกับเธอมีความรู้สึก

พ่อแม่ฝ่ายหญิงรับรู้ถึงความเป็นไป ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะไม่ทรมานเธออีกต่อไปด้วยการจะถอดเครื่องช่วยหายใจให้เธอจากไปอย่างสงบ
ฝ่ายชายพยายามขอร้องอยากเป็นคนดูแลเธอต่อไป เรื่องถูกร้องต่อศาลเพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ

สุดท้ายศาลตัดสินให้พ่อแม่เป็นฝ่ายชนะ แม้ชายหนุ่มพยายามจะนำรูปแต่งงานของทั้งคู่มาแสดงต่อศาล แต่มันก็เป็นเพียงรูปที่ถ่ายกันเล่นๆ ไม่มีพิธีหรือเอกสารใดๆรับรอง

ผมจะไม่เล่าว่าเรื่องนี้จบอย่างไร เอาไว้ให้คุณไปหามาดูเองแล้วกัน
แต่สิ่งที่อยากหยิบยกมาแสดงความคิดเห็น คือเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่พ่อแม่ได้รับต่อศาลให้เป็นผู้ชนะ

ตรงนี้คุณคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ?
พ่อแม่ที่อยากถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ลูกจากไปอย่างสงบไม่ต้องทรมานอีกต่อไป?
หรือชายหนุ่มผู้มีรักผู้ไม่ยอมแพ้ยังอยากขอดูแลเธอต่อไป?

แม้ตามหลักกฎหมายครอบครัว พ่อแม่ย่อมมีสิทธิในการดูแลบุตรโดยตรง เว้นเพียงแต่ว่าศาลวิเคราะห์แล้วว่าพ่อแม่เป็นผู้ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ สิทธินี้จึงจะตกแก่ผู้อื่น

ผมมองดูชายหนุ่มแล้วก็สงสารนะครับ ทำอะไรไม่ได้ นอกจากความรักที่เขามี และปาฏิหาริย์ที่เขาเชื่อ
สุดท้ายแล้วปาฏิหาริย์จะมีจริงหรือไม่?
ลองไปหาคำตอบจากหนังเรื่องนี้มาชมสิครับ

วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2552

จาก"นาง"เป็น"นางสาว" หากมันทำให้เธอเป็นสุข


ในที่สุดกฎหมายอนุญาตการเปลี่ยนชื่อนำหน้านามที่สร้างรอยยิ้มและอารมณ์ดีใจให้แก่ผู้หญิงหลายท่านก็ได้รับความเห็นชอบ
โดยส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หญิงที่กำลังจะสมรสหรือหญิงที่สิ้นสุดการสมรสสามารถเลือกได้ว่าจะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว"

เรื่องนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว สำหรับบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ หยุมหยิม แต่สำหรับหัวอกหญิงบางคนแล้ว มันเป็นความทุกข์เสียเหลือเกิน
เราไม่อาจไปตัดสินใจแทนใครได้หรอกครับว่าเรื่องที่เค้ากำลังเจออยู่นั้นเล็กหรือใหญ่ แต่มาช่วยกันดูดีกว่าว่าจะทำอย่างไรให้ทุกข์นั้นเบาลงได้บ้าง

ความจริงแล้วปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม เมื่อผู้หญิงมองว่า ทำไมผู้ชายไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใดก็ให้ใช้คำว่า"นาย"เท่านั้น
แต่พอเป็นหญิงใยต้องมาเฉพาะเจาะจงให้ด้วย เหตุก็คงมาจากการนำเอารูปแบบคำนำหน้านามตามแบบสากลมาใช้ในบ้านเรา ซึ่งมีคำว่า Mr, Mrs และ Miss

จะเป็นอย่างไรหนอ? ถ้าประเทศไทยมีแต่คำว่า"นาย"กับ"นาง" ก็คงไม่ต้องมีเรื่องปวดหัวมาแบบนี้มาให้ถกเถียงกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายอนุญาตแล้ว สาวๆบางกลุ่มก็คงจะแฮปปี้ไม่น้อย ขอแสดงความยินดีด้วยครับ
ในสภาวะการแบบนี้ หากมีบางเรื่องที่พอจะช่วยให้ประชาชนในประเทศมีความสุขขึ้นมาได้บ้าง ก็ทำเถอะครับ