เพิ่งขึ้นคอนเสิร์ต 10ปี PSU Phuket class 43 มาครับ

เพิ่งขึ้นคอนเสิร์ต 10ปี PSU Phuket class 43 มาครับ

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 6


"แฟนที่คบกันมานาน ถามเราว่า ที่บ้านเราจะเรียกสินสอดประมาณเท่าไหร่ เราก็ตอบไม่ถูก ได้แต่บอกว่าแล้วแต่จะให้ เราอยากให้ผู้ใหญ่เค้าคุยกันเอง แต่แฟนเราบอกว่า สองแสนพอมั้ย เพื่อนๆว่ามันน้อยไปมั้ย เราว่าน้อยไป แต่ไม่กล้าพูดอะไร ก็เฉยๆ เค้าประเมินค่าเราแค่นี้เองเหรอเนี่ย เหอๆๆ แย่จัง นี่ขนาดยังไม่ได้มีอะไรกันนะเนี่ย....เพื่อนว่าจะทำไงดีคะ เราก็ทำงานแล้ว เรียนจบตรีมาสองปีได้แล้วล่ะ แต่ยังไม่คิดแต่งหรอก อยากเรียนต่อก่อน แต่แฟนชอบถามเรื่องนี้ ทั้งๆที่เค้าก็ยังไม่อยากแต่อ่ะนะ ถามไปงั้นๆ"

สวัสดีค่ะคุณอาศิราณีวิชชุพล(ชื่อยาวจังค่ะ) หนูบังเอิญไปอ่านเจอข้อความด้านบนในเวปบอร์ดผู้หญิงนะคะ
บังเอิญจังเลยค่ะคุณอาที่เรื่องมันตรงกับชีวิตหนูเหลือเกิน
อยากให้คุณอาช่วยแนะนำหนูหน่อยค่ะ
รัน/ราชภัฎภูเก็ต


ตอบ น้องรัน ก่อนอื่นอาอยากให้หลานอ่านเรื่องสินสอดข้างล่างนี้ก่อนนะจ๊ะ
สินสอด หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (ม.1437)โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ได้
หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด

ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1. ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ

2. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ

กรณีของหลาน อาแนะนำให้ลองคุยกับพ่อแม่ดูนะจ๊ะว่าจะเรียกสินสอดเท่าไหร่ แล้วค่อยมาหาจุดลงตัวกันกับแฟน
เชื่อว่าคงลงเอยกันด้วยดี อาขอเป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ
อีกอย่างอาขอให้หลานรักษาความสาวไว้นานๆจนกว่าจะถึงวันแต่งงานนะจ๊ะ
ศิราณีวิชชุพล(ชื่อยาวจริงๆด้วย)

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ไดอารี่เรียนกฎหมายป.โท ตอนที่ 5

หลังจากวันที่ท่านเจ้าคุณเสียชีวิตลง บรรดาลูกทั้ง 4 ของท่านต่างใจจดใจจ่อรอคอยวันนี้ให้มาถึงไวไว
วันนี้ วันที่ทนายความประจำตระกูลจะเปิดพินัยกรรมออกอ่าน เพื่อชี้แจงถึงมรดกที่แต่ละคนจะได้รับ
รถราคาแพงยี่ห้อหรูนับ10คันจอดเต็มลานหน้าบ้าน ทั้งลูกชายหญิง ลูกเขย-สะใภ้ หลานและเหลน
รวมเกือบ 50 คนต่างพร้อมกันที่โถงประชุมใหญ่กลางบ้านหลังโต ทุกคนต่างหวังที่จะได้มีส่วนในมรดกร้อยล้าน
ในขณะที่ทนายกำลังเปิดพินัยกรรม เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น...

วิชชุพลภาพยนต์ นำเสนอไดอารี่วันนี้ในท้องเรื่อง "มรดก"

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ว่าด้วยเรื่องมรดกอยู่ในบรรพที่ 6 มีอยู่ 6 ลักษณะคือ
ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ 2 สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก
ลักษณะ 3 พินัยกรรม
ลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก
ลักษณะ 5 มรดกที่ไม่มีผู้รับ
ลักษณะ 6 อายุความ

และเพื่อให้เข้ากับท้องเรื่องของเราวันนี้ เราขอเสนอตอน "ลำดับชั้นการรับมรดก"
การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท โดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดัง ต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการ รับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ มรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่ง เสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
(2) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) แต่มี ทายาทตาม มาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
(3) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้น ยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตาม มาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม
(4) ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมี ชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทน ที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใด ยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณีและมีบิดามารดายังมีชีวิต อยู่ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

คงจะได้ความรู้ไปไม่น้อยนะครับวันนี้ ส่วนบทภาพยนต์ข้างต้นจะลงเอยอย่างไร (โปรดติดตามตอนต่อไป..)

ไดอารี่เรียนกฎหมาย ป.โท ตอนที่ 4

ข้อใดต่อไปนี้เป็นการยืมใช้คงรูป
ก. ยืมเงิน
ข. ยืมยางลบ
ค. ยืมรถยนต์
ง. ยืมน้ำดื่ม


เคยได้ยินคำนี้กันไหมครับ "ยืมใช้คงรูป"
อย่าคิดว่าเล่นๆนะครับเรื่องการยืมเนี่ย กฎหมายท่านว่าไว้เหมือนกัน
มาดูกันครับ
ตามกฎหมายมาตรา 640-649 โดยสรุปกล่าวว่า
- ยืมใช้คงรูปนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

- การให้ยืมใช้คงรูปนั้นท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

- ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

- ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

- ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

- ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความใน มาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

- ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

- ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย

- อันการยืมใช้คงรูปย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม

- ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

ดังนั้นถ้าจะเป็นผู้ยืมที่ดี ก่อนจะตายควรคืนของที่ยืมมาทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนนะครับ อย่าให้ใครมาว่าเราได้เชียว...